Skip to main content

หน้าหลัก

ไต้หวันปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 17,880 เหรียญไต้หวัน เริ่มมีผลตั้งแต่ปีหน้า

          เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2553 คณะกรรมการแรงงานไต้หวัน (CLA) ได้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทน 4 ฝ่าย ได้แก่ ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ  ซึ่งผลการประชุมเห็นชอบให้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งไม่มีการปรับมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว โดยปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 3.4%  จากปัจจุบัน 17,280 เหรียญไต้หวันเป็น 17,880 เหรียญไต้หวัน  ส่วนค่าจ้างรายชั่วโมงปรับเพิ่มจาก  95 เหรียญไต้หวันเป็น 98 เหรียญไต้หวัน ซึ่งหลังจากผ่านการอนุมัติของสภาบริหารแล้ว  จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป 

 

            ทั้งนี้ ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างต่างแสดงความไม่พอใจกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากฝ่ายลูกจ้างเสนอให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 22,000 เหรียญไต้หวัน เพื่อชดเชยกับอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ฝ่ายนายจ้างยังไม่ต้องการให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในขณะนี้ เนื่องจากเกรงว่าเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวจะซบเซาลง แต่หากจะมีการปรับก็ไม่ควรเกิน 2% ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน ในท้ายที่สุดทาง CLA เสนอให้คำนวณจากตัวเลขดัชนีราคาสินค้า บวกตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และตัวเลขการว่างงาน จึงเป็นที่มาของอัตรา 3.4% ดังกล่าว

  การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้จะส่งผลต่อการปรับขึ้นค่าจ้างของแรงงานท้องถิ่นประมาณ 1,130,000 คน และแรงงานต่างชาติอีกประมาณ 200,000 คนที่ทำงานอยู่ในภาคการผลิต และก่อสร้าง สำหรับผู้อนุบาลที่ทำงานอยู่ในบ้านของนายจ้าง เนื่องจากไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายมาตรฐานแรงงาน จึงไม่อยู่ในข่ายได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้ 

            ผลจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะทำให้แรงงานต้องจ่ายเบี้ยกองทุนประกันภัยแรงงานเพิ่มจากเดิมอีก 10 เหรียญไต้หวัน เป็นเดือนละ 286 เหรียญไต้หวัน เบี้ยกองทุนประกันสุขภาพเพิ่มอีก 8 เหรียญไต้หวันเป็นเดือนละ 244 เหรียญไต้หวัน  ส่วนนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันภัยแรงงานให้กับแรงงานแต่ละคนเพิ่มจากเดิมเดือนละ 968 เหรียญไต้หวันเป็นเดือนละ 1,001 เหรียญไต้หวัน และกองทุนประกันสุขภาพจากเดิมคนละ 911 เหรียญไต้หวันเป็น 943 เหรียญไต้หวัน
 


682
TOP