ปัญหาที่ส่งผลต่อการจ้างแรงงานไทย
1) ปัญหาที่เกิดจากนายจ้าง
- นายจ้างจำนวนมากไม่ยินยอมจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินเที่ยวกลับให้แก่ลูกจ้าง โดยอ้างว่าลูกจ้างลงนามยินยอมจ่ายเอง หรือใช้วิธีการหักค่าโดยสารเครื่องบินจากเงินค่าจ้างและเงินหักฝาก หรือเงินรายได้อื่นๆ ทั้งๆที่ลูกจ้างทำงานครบสัญญา ซึ่งกำหนดว่านายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าโดยสารเครื่องบิน
- นายจ้างจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยจ่ายในอัตราเดียวตลอด หรือจ่ายตามชิ้นงาน
- นายจ้างบางรายเรียกเก็บเงินหักฝากหรือเงินกันหนีไว้ ระหว่าง 3,000 – 5,000 เหรียญไต้หวัน โดยไม่มีข้อกำหนดของกฎหมายให้กระทำได้ และไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง นอกจากนี้ นายจ้างบางรายเลิกกิจการแล้วไม่คืนเงินหักฝาก ยึดเอาเงินเป็นของตน โดยอ้างว่าลูกจ้างทำความผิดหรือหลบหนี และยินยอมให้หักเนื่องจากทำงานไม่ครบสัญญา
- ลูกจ้างถูกตัดค่าจ้างในวันที่นายจ้างสั่งหยุดงาน เนื่องจากเหตุผลและความจำเป็นของนายจ้างเอง ทั้งๆที่ไม่มีสิทธิหักค่าจ้างสำหรับวันที่สั่งให้หยุดงาน หรือจ่ายค่าจ้างแต่ให้ทำงานชดเชยในสัปดาห์หรือเดือนถัดไป โดยให้ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือทำชดเชยในตอนเย็น ซึ่งควรจะได้รับเงินค่าล่วงเวลา
- เรียกเก็บค่าอาหารและที่พักเกิน 2,500 เหรียญไต้หวัน ที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง และจัดอาหารที่พักและสวัสดิการไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด (ตามกฎหมายบริการจัดหางานของไต้หวัน อนุญาตให้เก็บไม่เกิน 5,000 เหรียญไต้หวัน/เดือน)
- นายจ้างบางรายแบ่งจ่ายค่าจ้างออกเป็นส่วนๆ โดยแยกเป็นค่าจ้างพื้นฐาน เบี้ยขยัน และอื่นๆ ในกรณีที่ลูกจ้างปฏิบัติงานไม่ได้ ตามเป้าหมายที่กำหนด หรือทำงานสาย ขาดงาน ก็จะถูกหักเงินในส่วนนั้นๆ ทำให้ได้รับค่าจ้างไม่ถึงค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด
- นายจ้างส่งลูกจ้างกลับก่อนครบสัญญา โดยไม่จ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย หรือจ่ายให้น้อยกว่าอัตราที่ลูกจ้างควรจะได้รับ
- กรณีลูกจ้างประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย นายจ้างบางรายไม่สนใจนำไปรักษาพยาบาล หรือไม่ดูแลให้มีการจ่ายเงินชดเชยหรือทดแทนต่างๆ ตามที่ลูกจ้างควรจะได้รับ
- นายจ้างไม่ทำหลักฐานการจ่ายค่าจ้าง (Pay Slip) เป็นภาษาไทย ทำให้ลูกจ้างอ่านไม่รู้เรื่อง และถูกเอาเปรียบ
- นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง/ค่าตอบแทนสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้จัดให้ลูกจ้างหยุด (ปีละ 7 วัน) หรือไม่จัดวันหยุดให้
- สภาพโรงงานหลายแห่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกจ้าง โดยเฉพาะ ฝุ่นละออง กลิ่นสารเคมี อากาศร้อนไม่มีระบบถ่ายเท แสงสว่างไม่เพียงพอ เสียงดังเกินมาตรฐาน ฯลฯ รวมทั้งไม่มีเครื่องป้องกัน วัสดุอุปกรณ์ให้แก่ลูกจ้าง
2) ปัญหาที่เกิดจากบริษัทจัดหางานไต้หวัน
- บริษัทจัดหางานไต้หวันเรียกเก็บค่าบริการอื่นๆ ทั้งที่ไม่มีสิทธิเก็บเนื่องจากได้รับค่าบริการรายเดือนทุกเดือนอยู่แล้ว เช่น ค่ารถไปสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจรักษาเมื่อเจ็บป่วย ค่ารถรับส่งสนามบินเมื่อเดินทางมาถึงและเมื่อเดินทางกลับ ค่าสัมภาระส่วนเกินในอัตราที่สูงกว่าสายการบินกำหนด ฯลฯ
- ไม่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ไม่ดูแลพาลูกจ้างเจ็บป่วยไปรับการรักษา ไม่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างที่ควรได้รับเพื่อความเป็นธรรม
- ไม่จัดล่ามที่มีความรู้ความสามารถเพื่อช่วยเหลือคนงาน ทำให้หลายกรณี ลูกจ้างต้องถูกลงโทษเพราะปัญหาที่เกิดจากล่าม
3) ปัญหาที่เกิดจากบริษัทจัดหางานไทย
- บางรายเก็บค่าบริการ (ค่าหัว) แพงกว่ามาตรฐานที่กระทรวงแรงงานไทยกำหนด
- ให้คนงานลงนามในหนังสือยินยอมจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินขากลับเอง โดยให้ลงนามในขณะที่อยู่สนามบินเพื่อออกเดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน ซึ่งลูกจ้างจำเป็นต้องยินยอม มิฉะนั้นจะไม่ได้เดินทาง
- ระบุให้ลูกจ้างมาทำงานในตำแหน่งหนึ่ง แต่เมื่อมาถึงจริงให้ทำงานอีกตำแห่งหนึ่ง หรือแจ้งว่ามี OT มีที่พักสะดวกสบาย แต่เมื่อมาถึงไต้หวันกลับไม่เป็นตามที่แจ้งไว้และไม่สามารถเปลี่ยนงานได้ ลูกจ้างจำนวนหนึ่งจึงต้องขอยกเลิกสัญญาหลังจากเดินทางมาทำงานได้ไม่นาน เนื่องจากทนสภาพการทำงานไม่ได้ หรือไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้
- กรณีที่คนงานต้องกู้เงินเพื่อใช้เป็นค่าบริการจัดหางาน บริษัทจัดหางานไทยบางรายหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้วยการกำหนดให้คนงานที่ไม่รู้จักกันมาก่อนลงนามค้ำประกันเงินซึ่งกันและกัน การผ่อนชำระเงินกู้จะจ่ายเมื่อไปทำงานแล้ว โดยคนงานบางรายขอกลับก่อนจึงชำระเงินกู้ไม่หมด ทำให้มีการยื่นฟ้องคนงานผู้ค้ำประกัน เพื่อบังคับให้นายจ้างหักค่าจ้างจ่ายแทนผู้ที่กลับไปก่อน แม้ว่าคนงานดังกล่าวจะชำระเงินกู้ในส่วนของตนเองครบถ้วนแล้ว
4) ปัญหาที่เกิดจากกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของไต้หวัน
- อัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนคงที่ ไม่ว่าจะได้รับค่าจ้างให้มาทำงานในตำแหน่งใด หรือมีประสบการณ์ทำงานมาแล้วกี่ปี เป็นอัตราที่ไม่สะท้อนสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม ยังมีนายจ้างหลาบรายมีความต้องการจ้างแรงงานไทยที่มีความชำนาญ เช่น ช่างเชื่อม ช่างประกอบโลหะ เป็นต้น โดยมีการตกลงให้ค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเล็กน้อย แต่จะระบุในสัญญาจ้างเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือน เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากในการขอใบอนุญาตทำงานที่อาจถูกจัดเป็นแรงงานฝีมือ ซึ่งต้องใช้เอกสารเพิ่มเติม เช่น ใบรับรองประสบการณ์ วุฒิการศึกษา เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ลูกจ้างจะต้องถูกหักตามกฎหมายมีหลายรายการ ได้แก่ ค่าอาหารและที่พัก ค่าเบี้ยประกันภัยแรงงาน ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ค่าภาษี (ขึ้นอยู่กับรายได้) ค่าบริการดูแลรายเดือน 1,500-1,800 เหรียญไต้หวัน
- ผู้อนุบาลและผู้ช่วยงานบ้านไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายมาตรฐานแรงงานไต้หวัน จึงมีความเสี่ยงต่อการทำงานหนัก ติดโรคจากผู้ป่วย ไม่มีเวลาพักหรือวันหยุด ไม่มีค่าล่วงเวลา ถูกควบคุมกดขี่ หรือคุกคามทางเพศจากนายจ้าง แต่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนจากบริษัทจัดหางานเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม
- เงื่อนไขการโอนย้ายนายจ้างและการต่อสัญญาจ้าง กล่าวคือ กระทรวงแรงงานไต้หวันกำหนดไว้ตายตัว เช่น ต้องขอย้ายนายจ้างภายใน 2-4 เดือนก่อนหมดสัญญาจ้าง โดยนายจ้างเก่าต้องยินยอม หรือ การต่อสัญญาจ้างในไต้หวันโดยไม่ต้องกลับไทยเพื่อเสียค่าบริการจัดหางานกลับอีกนั้น นายจ้างเก่าและนายจ้างใหม่ต้องดำเนินการให้โดยมีบริษัทจัดหางานไต้หวันดูแล แต่หากนายจ้างและบริษัทจัดหางานต้องการได้ร้บเงินส่วนแบ่งจากค่าบริการฯ ก็จะไม่ต่อสัญญาให้ในไต้หวัน จึงทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบและไม่ได้รับความสะดวกและเป็นธรรมตามที่กฎหมายแรงงานไต้หวันได้เปิดโอกาสไว้ อย่างไรก็ดี กฎหมายแรงงานไต้หวันไม่ได้บังคับให้นายจ้างต้องต่อสัญญาจ้างกับแรงงานต่างชาติทุกราย ขึ้นกับการตกลงของทั้งสองฝ่าย ในทางปฏิบัติหากนายจ้างพิจารณาเห็นว่าแรงงานต่างชาติมีฝีมือและประสบการณ์ รวมทั้งประพฤติดี นายจ้างจะต่อสัญญาให้ ยกเว้นกรณีสุดวิสัย เช่น ปัญหาทางการเงินของบริษัท เป็นต้น
11175