ไต้หวันเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ลำดับที่ 17 ของโลก ในปี 2563 ภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ ไต้หวันได้กระชับความสัมพันธ์กับ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศในเอเชียใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ ไต้หวันครองตำแหน่งสำคัญในเศรษฐกิจโลกและเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระดับโลก รวมทั้งเป็นผู้ผลิตสินค้าหลักในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย
ตามรายงานขององค์การการค้าโลก ระบุว่า ไต้หวันเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับที่ 17 และเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับที่ 17 ของโลกในปี พ.ศ. 2563 อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดของโลก (ณ เดือนธันวาคม 2563) ในปี 2563 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อประชากรเท่ากับ 25,909 เหรียญสหรัฐ ในแง่ของการจัดอันดับประเทศตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไต้หวันจัดอยู่ในอันดับใกล้เคียงกับสวิตเซอร์แลนด์และโปแลนด์ ในขณะที่ความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อของประชาชน เฉลี่ยต่อบุคคล อยู่ในอันดับใกล้เคียงกับสวีเดนและเดนมาร์ก โดยมีอันดับที่สูงกว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
การเติบโตทางการค้า
แม้ว่าในปี 2019 ปริมาณการส่งออกของไต้หวันในภาพรวมจะลดลงร้อยละ 1.44 แต่อัตราการนำเข้ากลับเติบโตขึ้นร้อยละ 0.32 และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.71 ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ แต่เนื่องด้วยนักธุรกิจกลับเข้ามาลงทุนขยายการผลิตในประเทศ จึงทำให้ไต้หวันได้รับผลกระทบที่ไม่รุนแรงมากนัก ส่วนการเติบโตทางการค้าได้กลับมาฟื้นตัวในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ปี 2020 โดยอัตราการส่งออกและนำเข้าเติบโตขึ้นร้อยละ 6.4 และ 5.3 ตามลำดับ มูลค่าการค้าโดยรวมเติบโตขึ้นร้อยละ 5.9 ในแต่ละปี
จากการสำรวจเศรษฐกิจโลกประจำปี ซึ่งรวมการสำรวจโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum – WEF) และสถาบันประเมินความเสี่ยงด้านธุรกิจ (Business Environment Risk Intelligence – BERI) และหน่วยงานที่วิเคราะห์เศรษฐกิจ (Economist Intelligence Unit – EIU) จัดให้ไต้หวันอยู่ในอันดับต้นของโลกมาตลอดทุกปี อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาในระยะยาวและการพัฒนาทางเทคโนโลยี และจากรายงานปี 2019 – 2020 แสดงให้เห็นถึงทิศทางที่ดีเช่นเดียวกันกับปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีการลงนามความร่วมมือทางด้านการค้ากับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและประเทศต่างๆ อาทิ ปี 2013 ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับนิวซีแลนด์ เพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน-สิงคโปร์ โดยความตกลงทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ดำเนินไปไกลเกินกว่าเงื่อนไขของ WTO แล้ว นอกจากนี้ ยังได้ร่วมดำเนินการวิจัยความเป็นไปได้ในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (ECA) ระหว่างไต้หวัน –อินโดนีเซีย (2012) และไต้หวัน – อินเดีย (2013) โดยสรุปความตกลงกับหุ้น่สวนทางเศรษฐกิจต่างๆ ต่างก็ถูกคาดหวังในการช่วยให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเช่นเดียวกับความตกลงก้าวหน้ารอบด้านหุ้นส่วนพันธมิตรเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
แนวทางในการพัฒนา
นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2016 ไต้หวันได้พัฒนาแผนแม่บทด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมนวัตกรรม เพิ่มโอกาสการจ้างงาน และสร้างหลักประกันด้านการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม ภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว ไต้หวันต้องเร่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงระดับโลกและระดับภูมิภาคผ่านแนวคิดต่างๆ อาทิ นโยบายมุ่งใต้ใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการเชื่อมโยงตลาดนานาชาติกับประเทศสมาชิกอาเซียนและเอเชียใต้รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยไต้หวันจะจับตาความคืบหน้าในการพัฒนาของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคต่อไปตลอดจนแสวงหาทุกโอกาสในการเข้ามีส่วนร่วมที่เป็นไปได้เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันระดับ
นานาชาติ แผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจได้มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมโครงการอุตสาหกรรมนวัตกรรม 5 + 2 ประกอบด้วย ชีวเภสัชภัณฑ์ เทคโนโลยีพลังงานสีเขียว อุตสาหกรรมกลาโหม เครื่องจักรกลอัจฉริยะ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) รวมทั้งยังมีแนวคิดหลักอีก 2 ประการ ประกอบด้วย เศรษฐกิจหมุนเวียนและการเกษตรรูปแบบใหม่ รวมไปถึงโครงการซิลิคอนวัลเล่ย์เอเชียที่จัดตั้งขึ้นในนครเถาหยวน ที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือของไต้หวัน โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะบุคลากรที่จะนำอุตสาหกรรมก้าวไปสู่การพัฒนาในอนาคต
นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังได้ส่งเสริมการพัฒนาโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานแห่งอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแห่งชาติในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยโครงการดังกล่าวประกอบด้วย 8 องค์ประกอบหลักดังนี้ การพัฒนาระบบรางรถไฟ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การปฏิรูปทรัพยากรน้ำ ความปลอดภัยทางด้านอาหาร พลังงานสีเขียว การพัฒนาเมืองและชนบท การเพิ่มอัตราการเกิดและการดูแลเด็กเล็ก รวมถึงการบ่มเพาะบุคลากรและการทำงาน
ในขณะที่ส่งเสริมการผลักดันอุตสาหกรรมนวัตกรรม รัฐบาลไต้หวันยังได้เร่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทดังกล่าวเศรษฐกิจรูปแบบใหม่มีเป้าหมายบูรณาการการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม การวางแผนการใช้ที่ดิน และกลยุทธ์การพัฒนาในระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรพลังงานสีเขียวภายใต้แนวทางดังกล่าว รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะยกระดับอัตราค่าแรงและเสริมสร้างการพัฒนาในภูมิภาค ขณะเดียวกัน ก็ต้องการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) และสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อมาตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยมาตรการดังกล่าวคาดหวังที่จะยกระดับศักยภาพการแข่งขันทางอุตสาหกรรม และผลักดันเศรษฐกิจไต้หวันในปี 2020 ให้รุดหน้ายิ่งกว่าเดิม
ที่มา : 2020-2021 Taiwan at a Glance (กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน)
1764