สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมนิลา (ส่วนที่ 2 ) กรุงไทเป
รายงานสถานการณ์การจ้างแรงงานต่างชาติ
กระทรวงแรงงาน เดินหน้าตามแนวทาง รมต.แรงงาน(นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ให้ความสำคัญต่องานด้านการพัฒนาตลาดแรงงานในประเทศและต่างประเทศ ควบคู่กับการดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านแรงงาน
สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมนิลา ( ส่วนที่ 2 )กรุงไทเป รายงานสถานการณ์ด้านการจ้างงาน ว่า
สำหรับสถานการณ์แรงงานในไต้หวันพบว่าสถานประกอบการจำนวนมากและนักลงทุนไต้หวันในจีนให้ความสนใจกับการจ้างงานตรงแรงงานต่างชาติเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ดังนั้น คณะกรรมการแรงงานไต้หวัน (CLA) จึงพิจารณาที่จะดำเนินการปรับปรุงระเบียบเพื่อให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้โดยตรง มาตรการใหม่นี้ คาดว่าจะเริ่มใช้ในปีหน้า ( ปี 2554 )โดยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการระยะยาวในการช่วยเหลือแรงงานต่างชาติและนายจ้างในไต้หวันจากการถูกเอาเปรียบจากบริษัทจัดหางาน ทั้งนี้ ในการเริ่มดำเนินการในระยะแรก ได้แก่การกระตุ้นให้นายจ้างต่ออายุสัญญาจ้างงานแรงงานต่างชาติของตนโดยการดำเนินการด้วยตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างและแรงงานต่างชาติถูกเอาเปรียบจากบริษัทจัดหางาน และการดำเนินการขั้นต่อไป คือ การขยายมาตรการการจ้างตรงแรงงานต่างชาติไปสู่การนำเข้าแรงงานต่างชาติรายใหม่ ซึ่งพบว่าผู้บริหารสถานประกอบการมีความยินดีกับมาตรการใหม่นี้ เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนในผลิต แต่จะทำให้นายจ้างมีโอกาสมากขึ้นในการคัดเลือกแรงงานต่างชาติที่ตนต้องการ ในขณะที่สำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrial Development Bureau) สังกัดกระทรวงเศรษฐการ (Ministry of Economic Affairs) กล่าวว่ามาตรการใหม่นี้จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของไต้หวันได้ จากสถิติที่เก็บรวบรวมปรากฎว่ามีการจ้างตรงแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในไต้หวันโดยนายจ้างมากกว่า 4,700 รายในปี 2550 และจำนวนได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 7,300 รายในปี 2552 สำหรับในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้นั้น มีการจ้างตรงมากกว่า 4,000 ราย และการขยายการจ้างตรงไปสู่การนำเข้าแรงงานต่างชาติรายใหม่จะเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับนายจ้าง
คณะกรรมการแรงงานไต้หวัน (CLA) ยืนยันว่ายังคงใช้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานต่างชาติ
นอกจากนี้ ในเรื่อง ระบบค่าจ้าง คณะกรรมการแรงงานไต้หวัน (CLA) ยืนยันว่ายังคงใช้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานต่างชาติ Mr. Liao Weijen รองผู้อำนวยการ สำนักงานการจ้างงานและการฝึกอบรม (Employment and Vocational Training Administration), คณะกรรมการแรงงานไต้หวัน (CLA) กล่าวว่า แม้ว่าจะมีแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นจากผู้ลงทุนชาวไต้หวันในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต้องการย้ายฐานการผลิตกลับมาที่ไต้หวัน แต่รัฐบาลยังคงยืนยันใช้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำกับแรงงานต่างชาติ โดยคณะกรรมการแรงงานไต้หวัน
จะนำมาตรการใหม่ๆมาใช้ รวมถึงความยืดหยุ่นในเรื่องโควตาการจ้างแรงงานต่างชาติ เพื่อช่วยสถานประกอบการในกรณีที่ต้องการย้ายฐานการผลิตกลับมา อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจที่เดินทางกลับไต้หวันในช่วงเทศกาล Dragon Boat Festival ได้เสนอว่ารัฐบาลควรแยกการจ้างแรงงานต่างชาติออกจากระบบค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อดึงดูดให้มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ และประเทศอื่นๆกลับมาไต้หวัน ซึ่งต่อเรื่องนี้ Mr. Liao กล่าวว่าขณะนี้การทำงานในไต้หวันไม่เป็นที่สนใจของแรงงานต่างชาติเพราะค่าจ้างต่ำกว่า
ในประเทศเกาหลีใต้และะฮ่องกง ปัจจุบันนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำในเกาหลีสูงเป็น 2 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำในไต้หวัน
อีกทั้ง ถ้ารัฐบาลไต้หวันประนีประนอมในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ จะก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อ
ต่างประเทศ และนักกิจกรรมด้านแรงงาน รวมทั้ง ปัญหาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำนี้อาจมีผลกระทบอย่างสำคัญ
ต่อบริษัทท้องถิ่นส่วนใหญ่ที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับบริษัทต่างชาติ ในความเป็นจริงแล้ว ค่าจ้างที่แท้จริง
ของไต้หวันไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งค่าจ้างขั้นต่ำด้วย จากในอดีต ค่าจ้างใน
ไต้หวันสูงกว่าประเทศไทย 20 เท่า แต่ปัจจุบันนี้ช่องว่างนี้ลดลงเหลือประมาณ 2-3 เท่า เท่านั้น ดังนั้น
รัฐบาลจึงส่งเสริมให้มีการจ้างตรงแรงงานต่างชาติ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างบริษัทจัดหางาน
ภายในสิ้นเดือนกันยายนปีนี้ คณะกรรมการแรงงานไต้หวัน (CLA) จะนำเสนอมาตรการใหม่ๆที่จะก่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นในการกำหนดโควตาการจ้างแรงงานต่างชาติ บนหลักการที่ว่า บริษัทที่จ้างแรงงานท้องถิ่นมากขึ้นจะได้รับโควตาการจ้างแรงงานต่างชาติมากขึ้น
ที่มา : สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมนิลา (ส่วนที่ 2 ) กรุงไทเป