Skip to main content

หน้าหลัก

สนร. ไทเป รายงานว่า มีการแก้ไขเพิ่มค่าปรับในพระราชบัญญัติความปลอดภัยในการทำงานสูงถึง300,000 เหรียญไต้หวัน

 

              เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 สภานิติบัญญัติผ่านพระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของแรงงานซึ่งได้แก้ไขเป็น “พระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน” ซึ่งจะเรียกเก็บค่าปรับสูงถึง 300,000 เหรียญไต้หวันจากนายจ้าง หากมีแรงงานเสียชีวิตด้วยเหตุจากการเจ็บป่วยในการทำงาน

              พระราชบัญญัติดังกล่าว ได้มีการแก้ไขนิยามความคุ้มครองแรงงานให้รวมถึงแรงงานนอกระบบด้วย  ซึ่งพระราชบัญญัติเดิมคุ้มครองเฉพาะแรงงานในระบบ ทั้งนี้ จะขยายความคุ้มครองและเป็นประโยชน์กับแรงงานทั้งสิ้นจำนวน10.6 ล้านคนจากเดิม6.7 ล้านคน

              คณะกรรมการแรงงานไต้หวัน (Council of Labor Affairs: CLA) ระบุว่า พระราชบัญญัติใหม่นี้ได้กำหนด 15มาตราใหม่ เพื่อกระตุ้นให้นายจ้างจะต้องจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้แรงงานมีความปลอดภัยและมีสุขภาพดี  โดยภายใต้กฎหมายใหม่ นายจ้างต้องเสียค่าปรับระหว่าง 30,000 ถึง 150,000 เหรียญไต้หวัน หากบังคับให้แรงงานทำงานยาวนานเกินกว่าชั่วโมงการทำงาน หรือทำงานต่อเนื่องในช่วงกะกลางคืน โดยไม่มีมาตรการบรรเทาความเครียดใดๆ รวมทั้งได้กำหนดค่าปรับ 300,000 เหรียญไต้หวันสำหรับนายจ้าง หากมีแรงงานเสียชีวิตด้วยเหตุจากการเจ็บป่วยในการทำงาน เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม 

             อย่างไรก็ตาม องค์การแนวร่วมแรงงานในไต้หวัน (Taiwan Labour Front: TLF)ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรภาคเอกชน (NGOs) ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายว่า การแก้ไขเพิ่มเติมข้อกฎหมายต่างๆ ยังมีความคลุมเครือ ขาดความเป็นรูปธรรมในมาตรการข้อจำกัดหรือข้อห้าม  โดยเสนอแนะให้มีการจัดตั้งหน่วยงานสำหรับตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย

             สถิติด้านความปลอดภัยจาก CLA รายงานว่า ทุกๆ วันทำงานจะมีแรงงานเสียชีวิตเนื่องจากประสบอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงาน เฉลี่ยจำนวน 5 คน และพิการจำนวนสูงถึง 20 คน  โดยหวังว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะส่งเสริมให้นายจ้างคำนึงถึงมาตรการการป้องกัน และให้ความสำคัญกับสุขภาพของแรงงาน  รวมถึงความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงานต่อไป

 

 

 

สนร. ไทเป
อ้างอิงจากข่าว นสพ. The China Post  ประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2556


306
TOP