ร่างแก้ไขกฎหมายสหภาพแรงงานผ่านความเห็นชอบวาระที่ 3 จากรัฐสภา (Legislative Yuan) การก้าวไปสู่สิทธิแรงงานยุคใหม่
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2553 ร่างแก้ไขกฎหมายสหภาพแรงงาน (Labour Union Law) ได้ผ่านความเห็นชอบวาระที่ 3 จากรัฐสภา ทำให้การจำกัดสิทธิในการก่อตั้งสหภาพแรงงานได้รับการผ่อนปรน นอกจากนี้ เพื่อป้องกันมิให้สหภาพแรงงานและคนงานเผชิญปัญหาการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง จะมีการดำเนินการจัดตั้งกลไกในการตัดสินข้อขัดแย้งด้านแรงงาน เพื่อให้คนงานได้ใช้สิทธิของตนผ่านกลไกนี้
การปรับปรุงกฎหมายสหภาพแรงงานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับคนงานในการใช้สิทธิในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน แม้ว่ากฎหมายสหภาพแรงงานจะมีการนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929 แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับการปรับปรุงมาเป็นเวลา 80 ปีแล้ว ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อสหภาพแรงงานโลก และสนับสนุนอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศรัฐบาลจึงได้ทำการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้
หลังจากมีการจัดตั้งคณะกรรมการแรงงาน (CLA) ได้มีการดำเนินการทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย จำนวน 3 ฉบับ คือ กฎหมายสหภาพแรงงาน (Labour Union Law) กฎหมายข้อตกลงการเจรจาต่อรองรวม (Collective Bargaining Agreement Act) และกฎหมายการจัดการข้อขัดแย้งด้านแรงงาน (Settlement of Labour Disputes Law) หลังจากการเจรจาต่อรอง และการทำงานอย่างหนักพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลได้ตกลงให้มีการแก้ไขกฎหมายสหภาพแรงงาน ในเรื่องนโยบายในการคุ้มครองครู สิทธิในการเข้าร่วมหรือจัดตั้งสหภาพแรงงาน การช่วยเหลือปฎิรูปสหภาพแรงงาน การขยายขอบเขตสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ และความเป็นหนึ่งเดียวของสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีหม่าเสนอไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง และการนำแนวคิดเรื่อง “งานที่มีคุณค่า (decent work)” มาดำเนินการในทางปฏิบัติ
จำนวนมาตราที่มีการแก้ไข คือ 39 มาตรา โดยแยกเป็นการเพิ่มมาตราใหม่ 13 มาตรา และการตัดมาตราเก่าทั้ง 26 มาตรา วัตถุประสงค์หลักของการแก้ไข คือ เพื่อแก้ปัญหาในปัจจุบัน และพัฒนาสหภาพแรงงาน เช่น ข้อจำกัดในการใช้สิทธิก่อตั้งสหภาพของคนงาน ความไม่ยืดหยุ่นของตัวสหภาพแรงงาน กลไกการบริหารทางการเงินของสหภาพแรงงานที่มีปัญหา ซึ่งการปรับปรุงสรุปได้ ดังนี้
1. การกำหนดและคุ้มครองสิทธิของคนงาน และครูในการก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน ครูสามารถก่อตั้งสหภาพวิชาชีพ หรือสหภาพอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับความต้องการและสภาพแวดล้อมของโรงเรียน กฎหมายการจัดการข้อขัดแย้งด้านแรงงานกำหนดว่าครูไม่สามารถนัดหยุดงานได้ อันเนื่องมาจากสิทธิในการได้รับการศึกษาของนักเรียน
2. กำหนดรูปแบบพฤติกรรมการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยนายจ้าง และเพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนงานในการเข้าร่วมและก่อตั้งสหภาพแรงงาน กฎหมายกำหนดว่ารูปแบบพฤติกรรมการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยนายจ้างที่ส่งผลต่อการจัดตั้ง การดำเนินงานของสหภาพแรงงาน และส่งผลในทางลบต่อตัวคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพ จะมีการกำหนดบทลงโทษไว้ต่างหาก
3. เพื่อส่งเสริมสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน กฎหมายได้กำหนดประเภทของสหภาพแรงงาน และขอบเขตในการส่งเสริมการพัฒนาสหภาพแรงงาน รวมถึงหน้าที่ในการเจรจาต่อรองอย่างโปร่งใสภายใต้กฎหมายข้อตกลงการเจรจาต่อรองร่วม การยุติและการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายการจัดการข้อขัดแย้งด้านแรงงาน เหล่านี้ทำให้เกิดรูปแบบสหภาพแรงงานที่หลากหลายในการต่อสู้เพื่อสิทธิของสมาชิก และกระบวนการก่อตั้งสหภาพมีความซับซ้อนน้อยลง
4. กฎหมายสหภาพแรงงานได้กำหนดกฎระเบียบและรายละเอียดว่าด้วยการยับยั้ง การคัดเลือก และการไล่ออกผู้อำนวยการ และที่ปรึกษา โดยระบบประชาธิปไตยภายในองค์กรสหภาพแรงงาน
5. กฎหมายสหภาพแรงงานกำหนดสิทธิของสหภาพแรงงานในการสร้างภาคี (alliance) และความร่วมมือระหว่างองค์กรภายใน โดยสหภาพแรงงานสามารถสร้างภาคีได้บนพื้นฐานของความต้องการร่วมกันในการต่อสู้เพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ส่วนความร่วมมือระหว่างองค์กรภายในอาจดำเนินการได้ถ้าสหภาพแรงงานแต่ละแห่งต้องการ
Ms. Ju-Hsuan Wang ประธานคณะกรรมการแรงงาน (CLA) ได้กล่าวขอบคุณรัฐสภา สหภาพแรงงาน และกลุ่มต่างๆที่ให้การสนับสนุนร่างแก้ไขกฎหมายสหภาพแรงงาน ทำให้กฎหมายแรงงานจำนวน 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความสัมพันธ์ ด้านแรงงานสามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นระบบและอ้างอิงถึงกันได้ ทำให้สิทธิของแรงงานได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ เพื่อนำไปสู่ความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมกัน ความมั่นคง และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
หลังจากที่ร่างแก้ไขกฎหมายผ่านสภาแล้ว คนงานจะมีอิสระและได้รับการรับรองสิทธิในการก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน และจากข้อกำหนดที่ให้มีระเบียบในการเจรจาต่อรอง และกลไกการเจรจาที่โปร่งใสภายใต้กฎหมายข้อตกลงการเจรจาต่อรองร่วม จะส่งเสริมให้คนงานและฝ่ายจัดการสามารถดำเนินการเจรจาต่อรองได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น ในขณะที่กลไกการตัดสินข้อขัดแย้งภายใต้กฎหมายการจัดการข้อขัดแย้งด้านแรงงาน จะทำให้คนงานและฝ่ายจัดการสามารถตัดสินข้อขัดแย้งได้โดยเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย
ที่มา : สนร.ไทเป