Skip to main content

หน้าหลัก

ระเบียบการจ่ายเงินทดแทนกรณีสมาชิกกองทุนประกันภัยแรงงานเสียชีวิต

 

สภานิติบัญญัติไต้หวันผ่านกฎหมายว่าด้วยระเบียบการจ่ายเงินกองทุนประกันภัยแรงงานฉบับใหม่ เปลี่ยนแปลงการรับเงินสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันภัยแรงงาน กรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิต โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค. 2552 ดังนี้ :

1. เงินช่วยเหลือค่าทำศพ : คุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องและมาตรฐานในการจ่าย

1.1     ผู้เอาประกันเสียชีวิตระหว่างสมาชิกภาพยังมีผล ไม่ว่าจะจากการทำงาน ป่วยเป็นโรคหรือเสียชีวิตนอกเวลาทำงาน ให้ผู้จัดการศพ ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือค่าทำศพจากกองทุนฯ ได้ในจำนวน 5 เท่าของค่าจ้างเอาประกัน ซึ่งจะคิดจากค่าจ้างที่แจ้งเอาประกันโดยเฉลี่ย 6 เดือนก่อนเสียชีวิต (กรณีของแรงงานไทย ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่จะแจ้งเอาประกันตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 17,280 เหรียญ จะได้ 86,400 เหรียญ)

1.2     กรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิต และทายาทขาดคุณสมบัติหรือไม่มีทายาทรับประโยชน์เงินทดแทนที่จ่ายเป็นก้อนหรือเงินทดแทนรายเดือน ให้ผู้จัดการศพ ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือค่าทำศพจากกองทุนฯ ได้ ในจำนวน 10 เท่าของค่าจ้างเอาประกัน ซึ่งจะคิดจากค่าจ้างที่แจ้งเอาประกันโดยเฉลี่ย 6 เดือนก่อนเสียชีวิต

2. เงินทดแทนที่จ่ายเป็นก้อน

2.2     คุณสมบัติของผู้รับประโยชน์ : ผู้เอาประกันเข้ากองทุนประกันภัยแรงงานครั้งแรกก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2552 และเสียชีวิตระหว่างสมาชิกภาพยังมีผล ทายาทของผู้เอาประกัน ได้แก่คู่สมรส/บุตร บิดา/มารดา ปู่ย่า หรือหลาน และพี่/น้อง ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากผู้เอาประกัน

                2.3          มาตรฐานการจ่ายเงินทดแทน

                                2.3.1       เสียชีวิตนอกการทำงาน กองทุนจะจ่ายเงินทดแทนเป็นก้อนตามอายุการเข้ากองทุนดังนี้

ไม่เกิน 1 ปี จะได้รับเงินทดแทน 10 เท่าของค่าจ้างที่เอาประกัน

– 1 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 2 ปี จะได้รับเงินทดแทน 20 เท่าของค่าจ้างที่เอาประกัน

– 2 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทน 30 เท่าของค่าจ้างที่เอาประกัน

2.3.2  กรณีเสียชีวิตจากการทำงาน ทายาทจะได้รับเงินทดแทน 40 เท่าของค่าจ้างที่เอาประกัน

3. เงินทดแทนรายเดือน

                3.1          คุณสมบัติของผู้รับประโยชน์ : ผู้เอาประกันเข้ากองทุนประกันภัยครั้งแรกหลังวันที่ 1 ม.ค. 2552                   

และเสียชีวิตระหว่างสมาชิกภาพยังมีผล ทายาทของผู้เอาประกัน ได้แก่คู่สมรส/บุตร บิดา/มารดา ปู่ย่า หรือหลาน และพี่/น้อง ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากผู้เอาประกัน

                3.2          เงื่อนไขการยื่นขอ

                                3.2.1       คู่สมรส : ต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

ก.       อายุ ครบ 55 ปี สมรสกับผู้เอาประกันครบ 1 ปีขึ้นไป เว้นแต่จะเป็นผู้ไร้ความสามารถหาเลี้ยงชีพ หรือมีบุตรอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องเลี้ยงดู

ข.       อายุ ครบ 45 ปี สมรสกับผู้เอาประกันครบ 1 ปีขึ้นไป มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึงวงเงินแจ้งเอาประกันระดับที่ 1 (17,280 เหรียญไต้หวัน)

3.2.2 บุตร (กรณีที่เป็นบุตรบุญธรรม ต้องมีเอกสารรับรองการรับเป็นบุตรบุญธรรมเกิน 6 เดือนขึ้นไป) ต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังนี้ :

                                                ก.            ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

                                                ข.            ไร้ความสามารถในการหาเลี้ยงชีพ

ค.       อายุไม่เกิน 25 ปี อยู่ระหว่างเรียน และมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึงวงเงินแจ้งเอาประกันระดับที่ 1 (17,280 เหรียญไต้หวัน)

 

3.2.3  บิดา/มารดา และปู่/ย่า อายุครบ 55 ปี และมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึงวงเงินแจ้งเอาประกันระดับที่ 1

(17,280 เหรียญไต้หวัน)

                                3.2.4       หลานซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากผู้เอาประกัน และมีคุณสมบัติตรงตามข้อ 3.2.2

                                3.2.5       พี่/น้อง ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากผู้เอาประกัน และตามเงื่อนไขดังนี้

                                                ก.            ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

                                                ข.            ไร้ความสามารถในการหาเลี้ยงชีพ

ค.       อายุครบ 55 ปี และมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึงวงเงินแจ้งเอาประกันระดับที่ 1 (17,280 เหรียญไต้หวัน)

                3.3          มาตรฐานการจ่ายเงินทดแทนรายเดือน

3.3.1  เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตระหว่างที่สมาชิกภาพยังมีผล กองทุนฯ จะจ่ายเงินทดแทนรายเดือน โดยคิดจากร้อยละ 1.55 ของวงเงินเอาประกันเฉลี่ย 1 ปี

3.3.2  เงินทดแทนรายเดือนตามข้อง 3.3.1 หากไม่ถึง 3,000 เหรียญ จะจ่ายให้ 3,000 เหรียญ

3.3.3  กรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตจากการทำงาน นอกจากเงินทดแทนรายเดือนแล้ว จะได้รับเงินทดแทนเพิ่มอีก 10 เท่าของค่าจ้างที่เอาประกัน โดยจะจ่ายให้เป็นก้อน

3.3.4 ทายาทในลำดับเดียวกัน หากมีจำนวนมากกว่า 1 คน จะได้รับเงินทดแทนรายเดือนเพิ่มขึ้น คนละร้อยละ 25 สูงสุดเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 50

 

4. เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้อง

4.1     หนังสือมอบอำนาจให้นายจ้างเป็นผู้ดำเนินการจัดการเผาศพหรือส่งศพกลับประเทศไทย ดำเนินการยื่นขอรับเงินทดแทนจากกองทุนประกันภัยแรงงาน และดำเนินการเจรจาเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณี (แต่หากคู่กรณีเป็นนายจ้าง ให้มอบสำนักงานแรงงาน ไทเป หรือเกาสง เป็นผู้เจรจา)

4.2          สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของทายาท

4.3     เอกสารแสดงความสัมพันธ์กับผู้ตายได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเต็มที่จำหน่ายชื่อผู้ตายแล้ว

4.4          สำเนาทะเบียนสมรส

4.5          หลักฐานขาดความสามารถในการเลี้ยงชีพ

4.6          หลักฐานแสดงการอุปการะเลี้ยงดู (กรณีที่ทายาทเป็นพี่/น้อง/หลาน)    

เอกสารทั้งหมดให้ทำ 3 ชุด ทายาทของผู้ตายจะต้องดำเนินการเอง โดยนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษและผ่านการรับรองจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศไทย จากนั้นนำไปรับรองที่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย

                     4.7          อายุความ 2 ปี

 

                                                                                                                                                                                    

 

ผู้จัดทำ

นายวิรัตน์ เทาประเสริฐ

ล่าม สนร. ไทเป

                                                                                                                                 09 มิถุนายน 2553

 

 

                             

 

 

 


620
TOP