Skip to main content

หน้าหลัก

มุมมองไต้หวัน! บทวิเคราะห์การเลือกตั้งประธานและรองประธานสภา 5 นคร

 

มุมมองไต้หวัน! บทวิเคราะห์การเลือกตั้งประธานและรองประธานสภา 5 นคร
 
การเลือกตั้งประธานและรองประธานสภาทั้ง 5 นครที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลางได้เสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2553 วันแรกของการเปิดการประชุมสภานคร โดยสมาชิกสภานครเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกันเอง ผลปรากฏว่า ยกเว้นนครไทเปใหม่ และนครไถหนาน เท่านั้นที่ไม่มีอะไรนอกเหนือความคาดหมาย ทุกอย่างเป็นไปโดยราบรื่น ตามที่คาดการณ์กันไว้ในตอนแรก โดยพันธมิตรของแต่ละฝ่ายได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ก่อนหน้านี้ แม้กล่าวโดยรวมแล้ว จำนวนสมาชิกสภานครของฝ่ายพรรคสีน้ำเงินรวมกับสมาชิกสภาที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใดๆแล้ว จะมากกว่าของพันธมิตรฝ่ายสีเขียวก็ตาม แต่เนื่องจากคะแนนเสียงของทั้งสองฝ่ายก้ำกึ่งกันมาก ทำให้ การเลือกตั้งเป็นไปอย่างถึงพริกถึงขิง ยังนับคะแนนไม่หมดก็มีลุ้นกันทุกวินาทีทีเดียว ไม่มีฝ่ายใดจะมั่นใจแบบชนิดที่เรียกว่า “แบเบอร์” ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผลการเลือกตั้ง เป็นการเปิดหน้าศักราชใหม่ให้แก่การปกครองระดับท้องถิ่นในไต้หวัน และมีความหมายอย่างสำคัญต่อการปกครองท้องถิ่นและการเมืองระบอบพรรคการเมืองของไต้หวันทีเดียว
 
 
 
 

                  ประการแรก ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ยิ่งทำให้การเมืองระดับท้องถิ่นใน 5 นคร ก่อรูปขึ้นเป็นการเมืองระบอบพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ที่ผ่านมา สภาท้องถิ่นในไต้หวันจะอยู่ภายใต้การกำหนดทิศทางของพรรคก๊กมิ่นตั๋งหรือฝ่ายสีน้ำเงินเท่านั้น เนื่องจากพรรคดีพีพี พรรคฝ่ายค้านมีจำนวนสมาชิกในอัตราส่วนที่ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้การเลือกตั้งประธานและรองประธานสภาในแต่ละท้องถิ่นจะมีบทบาทเพียงตัวประกอบเท่านั้น แม้ในท้องถิ่นที่พรรคดีพีพีเป็นผู้บริหารติดต่อกันมานานก็ตาม ก็อยู่ในสภาพเช่นนี้ หลังจากที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานครทั้ง 5 เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2553 พรรคก๊กมิ่นตั๋งกับพรรคดีพีพีต่างได้รับเลือกตั้งเข้ามาเท่ากันจำนวน 130 ที่นั่ง กระทั่งพรรคดีพีพี มีที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งในสภานครไถหนานด้วย ผลการเลือกตั้งประธานและรองประธานสภา 5 นคร พรรคดีพีพีได้รับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานสภาที่ไถหนาน และได้รับเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานที่นครไทเป นครไถหนาน และนครเกาสง จำนวนรวม 3 ที่นั่ง ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานของสภาทั้ง 5 นครในอนาคต พรรคการเมืองทั้งสองจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและถี่มากขึ้น เป็นการเปิดหน้าศักราชใหม่ให้แก่ประวัติศาสตร์การปกครองท้องถิ่นในไต้หวันของสองพรรคการเมือง

 
                ประการต่อมา การเลือกตั้งประธานและรองประธานสภา 5 นคร พรรคก๊กมิ่นตั๋งในฐานะพรรครัฐบาลถูกท้าทายอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทิศทางการปฏิรูปในอนาคตของพรรค ตลอดจนการรักษาระเบียบวินัยของพรรคด้วย การเลือกตั้งครั้งนี้ ด้านหนึ่งพรรคก๊กมิ่นตั๋งพยายามยืนหยัดในทิศทางการปฏิรูปพรรคของตน อีกด้านหนึ่งก็ดำเนินยุทธวิธีการเสนอชื่อและการลงคะแนนเสียงอย่างยืดหยุ่นและพลิกแพลง นอกจากที่นครไทเป และนครไทเปใหม่ที่พรรคก๊กมิ่นตั๋งได้เสนอชื่อผู้สมัครประธานและรองประธานสภาอย่างเป็นทางการแล้ว ที่นครไถจงเปิดให้ลงคะแนนแบบฟรีโหวต ไม่มีคำสั่งให้ต้องลงคะแนนเสียงให้ใคร หรือพรรคใด ส่วนที่นครไถหนานได้ขอให้สมาชิกสภานครในสังกัดของพรรคฯ ต้องเทคะแนนเสียงให้แก่ตัวเอง ส่วนที่นครเกาสงได้มีมติให้สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นพันธมิตรของพรรค ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพรรคจะถูกลงโทษรุนแรงถึงขั้นไล่ออกจากพรรค ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ในตำแหน่งรองประธานสภานครไทเป ที่ผู้สมัครของพรรคก๊กมิ่นตั๋งพ่ายแพ้ให้แก่ผู้สมัครของพรรคดีพีพีอย่างเฉียดฉิวเพียง 1 คะแนนเท่านั้น ทำให้พรรคก๊กมิ่นตั๋งตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีสมาชิกสภานครในสังกัดพรรคก๊กมิ่นตั๋งถึง 5 คน ที่ “ออกนอกแถว” ลงคะแนนให้กับฝ่ายตรงข้าม ทำให้พรรคก๊กมิ่นตั๋งพ่ายแพ้ให้แก่พรรคดีพีพี ส่วนที่นครไถหนาน มีสมาชิกสภานครของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง 13 คน แต่มีเพียง 3 คนที่ลงคะแนนเสียงให้แก่ตัวเอง ในขณะที่ในส่วนของพรรคดีพีพี มีการ “ออกนอกแถว” น้อยมาก พรรคก๊กมิ่นตั๋งไม่สามารถสร้างระเบียบวินัยในส่วนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศูนย์กลางพรรคฯจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร จึงกลายเป็นดัชนีสำคัญที่จะบ่งบอกถึงการ “เอาจริง” ที่จะยืนหยัดในแนวทางปฏิรูปพรรคของพรรคก๊กมิ่นตั๋งต่อไป
 
 
 
              สุดท้าย การเลือกตั้งในครั้งนี้ ปรากฏว่า ที่นครไทเป และนครเกาสง อยู่ในสภาพที่ทั้งสองพรรคคุมการทำงานของสภาร่วมกัน โดยพรรคก๊กมิ่นตั๋งคุมตำแหน่งประธาน ส่วนพรรคดีพีพี คุมตำแหน่งรองประธาน สภาพการณ์เช่นนี้จะส่งผลต่อการเมืองในสภานครทั้งสองแห่งในอนาคตอย่างไร ในปัจจุบันจึงยากที่จะประเมินหรือคาดเดาได้อย่างชัดแจ้ง ในแง่ทฤษฎีแล้ว การเป็นประธานการประชุมของประธานและรองประธาน ควรจะต้องเป็นไปแบบไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งทั้งสองมีต้นทุนทางการเมืองที่ค่อนข้างสูง และมีบารมีทางการเมืองพอสมควรทีเดียว สีน้ำเงินกับสีเขียว แบ่งกันเป็นสองขั้วอย่างชัดแจ้ง จะร่วมกันบริหารอย่างไร จะประสานงานกันอย่างไร จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนควรที่จะต้องจับตามมองอย่างใกล้ชิด

 

แหล่งที่มา : สนร.ไทเป


513
TOP