มุมมองไต้หวัน!!! ทะนุถนอมดอกผลจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างช่องแคบไต้หวัน
ครึ่งแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไต้หวันมีการเติบโตถึง 13.12% เป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ และสูงกว่าของฮ่องกงและเกาหลีใต้มาก คาดว่าตลอดทั้งปีของปีนี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันจะอยู่ที่ 8% ขึ้นไป ทุบสถิติในรอบ 21 ปี เป็นอันดับ 2 ในกลุ่ม 4 เสือแห่งเอเชียรองจากประเทศสิงคโปร์ ในขณะที่ปีที่แล้วเป็นอันดับ 1 ของ 4 เสือแห่งเอเชีย ซึ่งได้แปรสภาพจากการอยู่ในอันดับบ๊วยในยุคของรัฐบาลพรรคดีพีพีเป็นเวลา 8 ปี เป็นการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการ “ปิดประเทศ” กับการ “เปิดเสรี” รัฐบาลประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่วและรองประธานาธิบดีเซียว ว่านฉาง ปกครองประเทศเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ยึดกุมโอกาสการเติบใหญ่ของเศรษฐกิจจีน เสริมความเชื่อมั่นระหว่างช่องแคบไต้หวัน เปิดการติดต่อตรง 3 ทาง อนุญาตให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางมาท่องเที่ยวไต้หวัน และจัดทำความตกลง ECFA กับจีนแผ่นดินใหญ่ และเนื่องจากการเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างช่องแคบไต้หวัน ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดอกผลจากการเปิดเสรีอาจพิจารณาได้จากใน 3 แง่มุมดังนี้
ประการแรก ในส่วนของการเปิดการติดต่อตรง 3 ทาง ส่งผลให้การเดินทางไปมาระหว่างช่องแคบไต้หวันของบรรดานักธุรกิจไต้หวันสะดวกสบายมากขึ้น ประหยัดเวลา การเดินทางไปตรวจงานของผู้บริหารระดับสูงก็สามารถเดินทางไป-กลับได้ภายในวันเดียว สามารถบริหารได้อย่างคล่องตัว ประสิทธิภาพสูงขึ้น


นอกจากนี้ ในส่วนของการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางมาท่องเที่ยวไต้หวัน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวไต้หวันเพิ่มขึ้น 14% ในปี 2552 ในขณะที่ประเทศในเอเชียแปซิฟิกอยู่ในสภาพลดลงถึง 20% ส่วนปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 29% คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 5.2 ล้านคนครั้ง ในขณะที่เอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นเพียง 6% จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้กิจการด้านการต่างๆ ทั้งภัตตาคาร เครื่องดื่ม โรงแรม กิจการรถทัวร์ รถเช่า การคมนาคมต่างๆ ตลอดจนโรงแรมคึกคักขึ้นเป็นพิเศษ เมื่ออุปสงค์ภายในเพิ่มขึ้น ก็เป็นตัวผลักดันให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้พุ่งสูงขึ้นเป็น 8% ซึ่งคาดว่าเมื่อถึงปี 2556 จำนวนโรงแรมในไต้หวันจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 218 แห่ง มูลค่าการลงทุนรวมเกินกว่า 110,000 ล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งยังจะสามารถดันการลงทุนในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้คึกคักตามไปด้วยอีกนับไม่ถ้วนทีเดียว
ส่วนทางด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน เมื่อช่องแคบไต้หวันรื้อฟื้นการเจรจาทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันแล้ว สังคมนานาชาติต่างชื่นชมว่า “ไต้หวันเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่รับผิดชอบ” และเป็น “ผู้มีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อสันติภาพในภูมิภาค” ส่วนการผ่อนคลายความสัมพันธ์และการสร้างความประนีประนอมระหว่างช่องแคบไต้หวัน ล้วนนำมาซึ่งผลดีในหลายๆ ด้านดังนี้
1. สร้างความมั่นใจให้แก่นักธุรกิจไต้หวันในจีนแผ่นดินใหญ่ เพิ่มการลงทุนในไต้หวันให้มากขึ้น มีเงินทุนไหลกลับไต้หวันถึงนับล้านล้านเหรียญไต้หวัน
2. บริษัทต่างชาติถึง 27 บริษัทมีแผนลงทุนในไต้หวันถึง 108,250 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน จัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาสินค้าในไต้หวัน หรือศูนย์บริหารในไต้หวัน
3. คณะผู้แทนการค้าจีนแผ่นดินใหญ่มาไต้หวันถี่มากขึ้น ส่งเสริมการค้าระหว่างสองฝ่าย TAITRA ไต้หวันประเมินว่า ในปีนี้มีการจัดทำสัญญาแสดงความจำนงจัดซื้อสินค้าจากไต้หวันมูลค่ารวมถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4. สิงคโปร์กับญี่ปุ่น ได้นำ TDR มาจำหน่ายระดมทุนในไต้หวัน ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมามีถึง 20 บริษัทแล้ว ปัจจุบันยังมีอีกถึง 18 บริษัทที่กำลังยื่นขอเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีบริษัทต่างชาติถึง 51 แห่ง และบริษัทนักธุรกิจไต้หวันในต่างประเทศยื่นขอรับคำแนะนำเพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน
5. สถาบันบริหารนานาชาติสวิสเซอร์แลนด์หรือ IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไต้หวันให้สูงขึ้น อยู่ในอันดับ 8 ของโลก จากการจัดอันดับทั้งสิ้น 58 ประเทศ ขยับจากปีที่แล้วถึง 15 อันดับ ส่วนเวิร์ลอีโคโนมิกฟอรั่มหรือ WEF ก็จัดให้ไต้หวันอยู่ในอันดับ 13 ของโลก หรือเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย
6. เนื่องจากเศรษฐกิจดีดตัวฟื้นตัวอย่างแรง ส่งผลให้สถานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลมั่นคงขึ้น ตัวเลขแดงลดน้อยลง โดยลดลงจากปี 2552 ที่ร้อยละ 3.5 เหลือร้อยละ 3.2 ในปีนี้ ส่วนปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ด้วยเหตุนี้แสตนดาร์ดโพล์ลจึงได้เปลี่ยนการประเมินไต้หวันจาก “ลบ” เป็น “มั่นคง”


ปัจจุบันจีนได้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 เป็นตลาดบริโภคที่มีการเติบโตเร็วที่สุด ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างกรูกันเข้าหาโอกาสทางธุรกิจกับจีน การจัดทำความตกลง ECFA อย่างน้อยที่สุดได้ทำให้ไต้หวันมีฐานะที่จะแข่งขันอย่างยุติธรรมกับคู่แข่งอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาเซียนบวกจีนคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกของไต้หวัน หากรวมกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แล้ว ก็จะมีอัตราส่วนของการส่งออกของไต้หวันถึงร้อยละ 70 ปีหน้าคือปี 2554 อาเซียนบวกจีน ปี 2555 อาเซียน บวก 3 ได้แก่จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ กลายเป็นตลาดเสรีแล้ว ไต้หวันจะยังคงอยู่โดดเดี่ยวจากการรวมตัวในระดับภูมิภาคนี้ได้อย่างไร แล้วเราจะไม่ทะนุถนอมดอกผลจากการเปิดตลาดการค้าและเศรษฐกิจระหว่างช่องแคบไต้หวันได้อย่างไรเล่า
แหล่งที่มา : ข่าว Radio Taiwan International สนร.ไทเป