นายก Wu Den-yih ปัดข้อเสนอในการแยกรายได้ของแรงงานต่างชาติจากค่าจ้างขั้นต่ำ
หนังสือพิมพ์ China Post ได้เปิดเผย เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2553 ว่านักอุตสาหกรรมชั้นนำของไต้หวันกล่าวว่า ยินดีที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่กลับมายังไต้หวัน หากรัฐบาลจะมีมาตรการจูงใจพิเศษ ซึ่งรวมถึงนโยบายการแยกค่าจ้างของแรงงานต่างชาติออกจากระบบค่าจ้างขั้นต่ำของไต้หวัน และการจัดหาพื้นที่ของรัฐให้เพียงพอสำหรับการตั้งโรงงาน
ในขณะนี้ มีผู้ลงทุนชาวไต้หวันจำนวนมากเผชิญปัญหาค่าจ้างที่สูงขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ อันเนื่องมาจากการขึ้นค่าจ้างของบริษัท Hon Hai Group รวมทั้งรัฐบาลจีนมีนโยบายในการปรับขึ้นค่าจ้างทั่วประเทศ นักธุรกิจดังกล่าวระบุว่า ในขณะนี้ อุตสาหกรรมการผลิตในฮ่องกงจ้างแรงงานต่างชาติคิดเป็น 70% ของแรงงานทั้งหมด ในขณะที่สิงคโปร์จ้างแรงงานต่างชาติคิดเป็น 60% ของแรงงานทั้งหมด
หากรัฐบาลไต้หวันยินดีดำเนินการตามนี้ คาดว่าจะมีการจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น 700,000 คน และจ้างแรงงานไต้หวันเพิ่มขึ้น 300,000 คน เมื่อนักธุรกิจย้ายฐานการผลิตกลับมา อย่างไรก็ตาม นายก Wu Den-yih กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะแยกค่าจ้างของแรงงานต่างชาติออกจากค่าจ้างขั้นต่ำของไต้หวัน ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการปรับนโยบายเพื่อลดต้นทุนให้กับนักธุรกิจ เช่น การลดภาษีเงินได้นักธุรกิจเหลือ 17% เท่ากับสิงคโปร์ การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ การลดขั้นตอนการลงทุน และการใช้ประโยชน์จากที่ดินภาครัฐ เป็นต้น แต่ยังคงคุ้มครองสิทธิของแรงงาน และจะยังไม่มีการปรับลดอัตราเงินเดือนในไต้หวัน
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลมีนโยบายในการลงนามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Framework Agreement: ECFA) กับจีนแผ่นดินใหญ่จะช่วยให้นักธุรกิจชาวไต้หวันรักษาความสามารถในการแข่งขัน และทำให้ไต้หวันเป็นที่ดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนชาวต่างประเทศ
รัฐมนตรีเศรษฐกิจ นาย Shih Yen-shiang (Minister of Economic Affairs) กล่าวว่า กระทรวงจะให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นของธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งการกระตุ้นให้นักลงทุนไต้หวันย้าย ศูนย์การวิจัยและพัฒนา (R&D) สำนักงานใหญ่ และการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงกลับมายังไต้หวัน
สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตโดยทั่วไปที่ยังคงพึ่งพิงแรงงานราคาถูก กระทรวงเศรษฐกิจ (Ministry of Economic Affairs) จะช่วยในการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีแรงงานราคาถูก เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรกว่า 200 ล้านคน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางคนยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในอินโดนีเซีย ซึ่งในอดีตมีการข่มขู่ และคุกคามนักธุรกิจชาวจีนในอินโดนีเซีย
ที่มา : สนร. ไทเป ข่าวจาก China Post