Skip to main content

หน้าหลัก

นางรติวัณณ สุนทรา อัครราชทูตที่ปรึกษา สนร.ไทเป ให้การต้อนรับ นายพานิช จิตรแจ้ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะ

 

               เมื่อวันที่ 9 – 12กันยายน2556  นางรติวัณณ สุนทรา  อัครราชทูตที่ปรึกษาและนางสาวสดุดี  กิตติสุวรรณ ที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)สนร. ไทเป ให้การต้อนรับนายพานิช จิตรแจ้ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะรวม 6 คน ซึ่งเดินทางมาไต้หวันเพื่อส่งเสริมขยายตลาดแรงงานไทยและคุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงานไทยในต่างประเทศ  รวมทั้งเยี่ยมเยียนแรงงานไทยเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน ระหว่างวันที่ 9 – 12 กันยายน 2556

  

              เมื่อเดินทางมาถึงคณะฯ ได้ศึกษาขั้นตอนการรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานที่ไต้หวันของคณะกรรมการการแรงงานไต้หวัน (CLA)ณ ท่าอากาศยานเถาหยวน ซึ่งมีนายเฉินรุ่ยเจีย ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวให้การต้อนรับ  และได้เดินทางไปเยี่ยมแรงงานไทย ณ สถานกักกันซานเสีย ซึ่งได้พบกับแรงงานไทย จำนวน 5 คน  โดยนายพานิช จิตรแจ้ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานได้ให้กำลังใจและให้ สนร.ไทเป เร่งประสานให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยดังกล่าว

             ในวันที่ 10กันยายน 2556นายพานิช จิตรแจ้ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานได้บันทึกเสียงให้กำลังใจแรงงานไทย เพื่อออกอากาศในรายการวิทยุ RTI ภาคภาษาไทย โดยได้กล่าวให้กำลังใจกับแรงงานไทยที่ทำงานในไต้หวัน  ขอให้ตั้งใจทำงาน  และนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานที่ไต้หวัน กลับไปพัฒนาประเทศไทย

  

              ต่อมาได้เดินทางไปรับฟังการบรรยายเรื่อง “การบริหารจัดการแรงงานต่างชาติ” ณ สำนักงานคณะกรรมการการแรงงานไต้หวัน (CLA) และศึกษาระบบการทำงาน ศูนย์บริการรับเรื่องร้องทุกข์แรงงานต่างชาติ Call Center 1955  ซึ่งได้รับการต้อนรับจากนายเลี่ยวเหวยเหริน รองอธิบดีกรมฝึกอาชีพ โดยนายพานิช จิตรแจ้ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน  ได้แสดงความขอบคุณที่ไต้หวันได้ต้อนรับและดูแลแรงงานไทยที่เดินทางมาทำงานที่ไต้หวันอย่างอบอุ่น ตั้งแต่ลงจากเครื่องบิน  และได้จัดให้มีการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานไทยที่เข้ามาทำงานอย่างเป็นระบบ มีศูนย์บริการรับเรื่องร้องทุกข์แรงงานต่างชาติ Call Center 1955ทำให้แรงงานไทยมีความสุขในการทำงานที่ไต้หวัน  ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานไทยขอให้ไต้หวันได้ใช้ประโยชน์จากการที่แรงงานไทยได้ทำงานในไต้หวันได้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้นอีกระดับหนึ่ง ไต้หวันจึงควรจัดให้มี (1) การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานไทยระหว่างทำงานในไต้หวัน และ (2) การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกลุ่มนี้ เพื่อให้แรงงานไทยที่ไต้หวันได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมตามทักษะฝีมือแรงงานต่อไป

สนร.ไทเป


266
TOP