Skip to main content

หน้าหลัก

นางรติวัณณ สุนทรา อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สนร.ไทเป เข้าร่วมการประชุม “2013 International Workshop on Strategies for combating Human Trafficking”

          นางรติวัณณ สุนทรา  อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) เป็นผู้แทนผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยเข้าร่วมงานประชุม “2013 International Workshop on Strategies for combating Human Trafficking” เมื่อวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2556  ณ  Howard Civil Service International House  กรุงไทเป  มีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นผู้แทนจากสถานทูตและสำนักงานฯ จากประเทศต่างๆ


 

          ไต้หวันให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด  โดยในปี ค.ศ. 2000 ได้บังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ไต้หวันได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องผ่านการดำเนินการ “4Ps” ประกอบด้วย Prevention การป้องกันอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น  Protection การคุ้มครองเหยื่อที่เกิดจากการค้ามนุษย์อย่างเหมาะสมให้สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้อย่างปกติต่อไป  Prosecution การดำเนินคดี การสืบสวน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด   และ Partnership การสร้างความร่วมมือและส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยน/การดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน



          จากการดำเนินการดังกล่าวอย่างจริงจัง ทำให้ไต้หวันได้รับการจัดอันดับเป็น Tier 1 จาก The Trafficking in Persons Report (หรือ TIP Report ของสหรัฐอเมริกา) ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2010 จนถึงปัจจุบัน ติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปี  รวมทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในทวีปเอเชีย

 



          นอกจากนี้ มีการบรรยายเรื่อง “การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (Child Sexual Exploitation)”มีผู้บรรยายจากประเทศออสเตรเลีย  สหรัฐอเมริกา และอิตาลี  พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการประกอบอาชญากรรมระหว่างประเทศ ผ่านรูปแบบการท่องเที่ยว เริ่มต้นด้วยการเดินทางจากประเทศต้นทางจนถึงประเทศปลายทาง/ประเทศเป้าหมาย (Destination Country)  ซึ่งมักเป็นประเทศที่มีการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก



          ท้ายสุดเป็นการบรรยายเรื่อง “การแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน (Labor Exploitation) ในอุตสาหกรรมประมง”  มีผู้บรรยายจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO)  ประเทศกัมพูชา  และประเทศไทย (นายยงยุทธ ศรีสัตยาชน  จากสํานักงานอัยการสูงสุด) ว่า เรื่องนี้เป็นที่สนใจขององค์การระหว่างประเทศ และทุกประเทศทั่วโลก ที่ผ่านมาได้มีเวทีในการปรึกษา/หารือและดำเนินงานร่วมกันในระดับต่างๆ ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี







          สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดตั้งกลไกในการดำเนินการและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ  พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490  พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541  พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522  พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551  และประมวลกฎหมายลักษณะอาญาต่างๆ  อย่างไรก็ตาม ปัญหาในการดำเนินงานเรื่องนี้ยังเป็นความท้าทายที่ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาต่อไป



*********************************



สนร.ไทเป

 

249
TOP