คณะกรรมการแรงงานไต้หวัน (CLA) จะปรับปรุงระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติ
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 สภาบริหารไต้หวันได้มีมติแนะนำให้คณะกรรมการแรงงานไต้หวัน (CLA) ปรับปรุงการบริหารงานด้านแรงงานต่างชาติในไต้หวัน รวมถึงการขยายระบบการจ้างตรงแรงงานต่างชาติ และแก้ไขปัญหาแรงงานต่างชาติหลบหนี
สภาบริหารไต้หวันได้เผยแพร่รายงาน ภายหลังจากเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในการก่อสร้าง Freeway No.6 ซึ่งมีแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายเสียชีวิต ซึ่งรายงานนี้เริ่มดำเนินการศึกษาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยชมเชยการดำเนินงานของ CLA ในเรื่องการจัดตั้งศูนย์บริการการจ้างตรงแรงงานต่างชาติเมื่อปี 2550 ซึ่งทำให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้รวดเร็วขึ้น และแรงงานต่างชาติไม่ต้องเสียค่าหัวให้แก่บริษัทจัดหางาน ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2553 ศูนย์ฯได้ให้บริการแก่นายจ้าง 18,473 ราย ในการจ้างแรงงานต่างชาติ 18,725 ราย แต่อย่างไรก็ตาม การให้บริการเช่นนี้ของศูนย์ยังไม่สามารถให้บริการที่ได้ผลดีในเมืองอื่นๆและยังไม่ได้ให้บริการการจ้างตรงสำหรับแรงงานต่างชาติที่จะเดินทางมาทำงานในไต้หวันเป็นครั้งแรก
รายงานยังระบุต่อไปว่า CLA ควรจะจัดทำ website ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และฐานข้อมูลที่ครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่ต้องการทำงานในไต้หวัน และควรที่จะลดจำนวนเอกสาร และขั้นตอนต่างๆให้น้อยลง เพื่อที่นายจ้างจะไม่ต้องพึ่งบริษัทจัดหางานในการดำเนินการ รายงานระบุว่า CLA ยังไม่สามารถจัดการกับบริษัทจัดหางานที่ละเมิดกฎหมาย แม้ว่า CLA จะมีการนำ “ระบบการประเมินบริษัทจัดหางานที่นำเข้าแรงงานต่างชาติ” มาใช้เพื่อแก้ปัญหาค่าหัวที่แพงก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถจัดกับบริษัทจัดหางานที่ละเมิดกฎหมายอย่างได้ผล ดังนั้น CLA ควรจะต้องมีการทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา
นอกจากนี้ รายงานยังได้กล่าวถึงจำนวนแรงงานต่างชาติหลบหนีที่มีสูงขึ้นว่าเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ CLA จะต้องดำเนินการ ปัจจุบันนี้จำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวัน ณ สิ้นเดือนสิงหาคมมีทั้งหมด 372,146 คน ในจำนวนนี้ประมาณ 10% หรือ 32,927 คนเป็นแรงงานที่หลบหนี ซึ่งก่อให้เกิดช่องว่างในการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติ ทั้งๆที่ CLA และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองต่างก็มีข้อมูลเกี่ยวกับ การอยู่เกินกำหนดวีซ่า เพศ และธุรกิจที่คนเหล่านี้เดินทางเข้ามาทำงาน
รายงานยังระบุว่า จากการวิเคราะห์สถิติที่จัดเก็บโดย CLA พบว่าธุรกิจที่มีแรงงานต่างชาติหลบหนีเป็นจำนวนมากนั้น ประมาณ 49% เกิดจากการถูกชักจูงโดยเพื่อนฝูง 30.4% เกิดจากสัญญาจ้างหมดอายุ และ 17.2% เกิดจากความต้องการค่าจ้างที่สูงขึ้น ในแง่ของประเภทธุรกิจ อัตราการหลบหนีจำนวน 21.8% อยู่ในภาคก่อสร้าง และ 11.4% อยู่ในภาคการผลิต

CLA กล่าวว่าในขณะนี้ได้มีการวางแผนที่จะออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทจัดหางาน การให้เสรีภาพและทางเลือกแก่แรงงานต่างชาติมากขึ้นในการเปลี่ยนนายจ้าง
แหล่งที่มา : สนร.ไทเป (ข่าว China Post)