Skip to main content

หน้าหลัก

การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในไต้หวัน

          ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 6 กค. ที่ผ่านมา Premier Wu Den-yih ได้เรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนภาคเอกชนและภาครัฐร่วมมือกันในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และย้ำว่าบุคคลผู้เกี่ยวข้องควรมีความเข้าใจและเห็นใจต่อผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และจำเป็นตะจ้องมีการกำหนดมาตรการในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสำหรับชาวไต้หวัน

           กระทรวงมหาดไทยเป็นหนึ่งใน 10 หน่วยงานภาครัฐที่มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับงานในความรับผิดชอบของตนให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คณะทำงานยังได้จัดทำ “กล่องร้องทุกข์ด้านสิทธิมนุษยชน” เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างภาครัฐและประชาชน รวมถึงรับฟ้งข้อร้องเรียน และข้อเสนอแนะจากประชาชน

 

           ในส่วนที่เกี่ยวกับ “เด็กไร้รัฐ” ที่เกิดในไต้หวันนั้น กระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการแก้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของเด็กเหล่านี้ แต่ในส่วนของการให้สัญชาตินั้น จะต้องมีการประเมินตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายสัญชาติ และกฎหมายทะเบียนบ้าน

           ในระหว่างการประชุม ได้มีการขอให้สภาชนเผ่าพื้นเมือง (Council of Indigenous Peoples) ส่งเสริมกฎหมายว่าด้วยความเป็นอิสระของชนพื้นเมือง (Indigenous Peoples Autonomy Act) เพื่อคุ้มครองสิทธิของชนพื้นเมืองในการดูแลตนเองภายใต้กติการะหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับทรรศนะของประธานาธิบดี Ma Ying-Jeou ที่ว่าชนพื้นเมืองควรได้รับอิสระในการดูแลตนเอง

           สำหรับกฎหมายที่กำหนดให้ภาคธุรกิจ หรือผู้ประกอบการอิสระเข้าเป็นสมาชิกสมาคมวิชาชีพ นั้น กระทรวงมหาดไทยกำลังพิจารณาอยู่ว่ากฎหมายนี้จะขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมหรือไม่ เนื่องจากภูมิหลังและ การเข้าร่วมในสมาคมของแต่ละบุคคลนั้นแตกต่างกัน ดังนั้น จำเป็นจะต้องสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของประชาชนและการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลในการเป็นสมาชิกสมาคม

           สำหรับงบประมาณที่จำเป็นในการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับดังกล่าวในไต้หวัน กระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้จัดลำดับความสำคัญและจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกัน ในขณะที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ บัญชีและสถิติ ได้รับมอบหมายให้ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐในเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

           นอกจากนี้ สมาชิกคณะกรรมการฯได้กล่าวว่า เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล คณะรัฐมนตรีควรให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆยกเลิกแนวปฏิบัติในการระงับการใช้บัตรประกันสุขภาพของผู้ที่จ่ายเงินค่าประกันล่าช้า  ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติให้ความสำคัญกับความยุติธรรมและการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความสามารถในการจ่ายแต่ไม่ยอมจ่าย สำหรับประชาชนที่ไม่สามารถจ่ายได้เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น สำนักงานจะร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในการให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการที่จำเป็น

           ในขณะที่สมาชิกบางท่านได้กล่าวถึงการขาดการมีส่วนร่วม และการสื่อสารกับชนพื้นเมือง เช่น ในช่วงการฟื้นฟูภายหลังการเกิดเหตุการณ์ไต้ฝุ่นมรกตที่ผ่านมา ซึ่งมีการละเมิดสิทธิของชนพื้นเมืองนั้น รัฐบาลเห็นว่าการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติตามธรรมชาตินั้น ภาครัฐและเอกชนควรจะต้องร่วมมือกันในการฟื้นฟู รักษาความสมดุลระหว่างวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองและสิทธิในถิ่นที่อยู่อาศัย และต้องอาศัยการวางแผนและการสื่อสารที่มากขึ้น

           ที่ประชุมได้รับฟังการเสนอรายงานจำนวน 4 ฉบับ กระทรวงยุติธรรมรายงานเรื่องการริเริ่มของคณะกรรมการในการจัดตั้งคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กรภาครัฐ และการจัดทำกล่องร้องทุกข์ด้านสิทธิมนุษยชน และรายงานเรื่องแผนการดำเนินงานในช่วงปี 2010 -2013 ตามกติการะหว่างประเทศทั้งสองฉบับในไต้หวัน กระทรวงมหาดไทยรายงานเรื่องเด็กไร้รัฐที่เกิดในไต้หวัน และการดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กเหล่านี้  สภาชนพื้นเมืองรายงานเรื่องความก้าวหน้าในการยกร่างกฎหมายว่าด้วยความเป็นอิสระของชนพื้นเมือง นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นที่อาจมีข้อขัดแย้งระหว่างการเป็นสมาชิกสมาคมวิชาชีพกับกติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงมหาดไทย และประเด็นที่สอง คือ การจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานตามกติกาทั้งสองฉบับ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงยุติธรรม

 

ที่มา : สนร.ไทเป ข่าว Chaina Post


1344
TOP