การขยายเวลาทำงานในไต้หวันของแรงงานต่างชาติ
นายเฉินฉางเหวิน ประธานสภากาชาดสากลประจำไต้หวัน ได้แสดงความเห็นชอบด้วยกับคณะกรรมการการแรงงานไต้หวัน (CLA) ได้กล่าวเห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายขยายระยะเวลาการทำงานของแรงงานต่างชาติจากเดิม 9 ปีเป็น 12 ปี ตามที่ สส. พรรคก๊กมินตั๋ง ได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายการจ้างงานมาตราที่ 52 ขยายเวลาการทำงานในไต้หวันของแรงงานต่างชาติจากเดิม 9 ปีเป็น 12 ปี โดยระบุว่า ร่างแก้ไขกฎหมายจะไม่ส่งผลกระทบต่อจำนวนรวมของแรงงานต่างชาติในไต้หวัน และหวังว่าจะสามารถรักษาแรงงานต่างชาติที่ให้ความร่วมมือสามารถทำงานในไต้หวันได้ต่อไป เพื่อลดภาระของผู้ที่มีความต้องการแรงงานต่างชาติ เนื่องจากหากครบกำหนดและนายจ้างไม่สามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้ต่อไป นายจ้างจะต้องจ้างแรงงานคนใหม่ ทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น และต้องใช้เวลาในการปรับตัว โดยเฉพาะการจ้างผู้อนุบาลชาวต่างชาติ การแก้ไขกฎหมายนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของแรงงานท้องถิ่น เพราะการที่แรงงานท้องถิ่นจะทำงานให้ได้อย่างแรงงานต่างชาติในการดูแลผู้ทุพพลภาพทางกายและทางจิตอย่างหนักไม่ใช่เรื่องง่าย


ในขณะเดียวกัน สมาคมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและการค้าไต้หวัน 6 แห่งได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติเร่งแก้ไขกฎหมาย เพื่อขยายระยะเวลาการทำงานในไต้หวันของแรงงานต่างชาติ โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นแรงงานต่างชาติที่ทำงานในตำแหน่งผู้อนุบาล หรือแรงงานต่างชาติที่ทำงานในภาคการผลิต จากเดิม 9 ปีเป็น 12 ปี เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนของไต้หวัน
แถลงการณ์นี้ร่วมลงนามโดย สมาคมอุตสาหกรรมแห่งสาธารณรัฐจีน สมาคมการค้าแห่งชาติ สมาคมส่งเสริมอุตสาหกกรมและการค้า สมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรม สมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและอิเล็กทรอนิกส์ มีเนื้อความระบุว่า การนำเข้าแรงงานต่างชาติจำเป็นต้องใช้เวลาในการฝึกฝน เมื่อแรงงานต่างชาติทำงานจนมีความเชี่ยวชาญก็ต้องเดินทางกลับประเทศ นายจ้างต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติรายใหม่และเริ่มฝึกฝนใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มต้นทุนที่ใช้ในการฝึกฝนแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสายการผลิตด้วย และในทางตรงกันข้ามการขยายระยะเวลาการทำงานของแรงงานต่างชาติจะช่วยลดต้นทุนการฝึกฝน ลดผลเสียที่เกิดขึ้นกับสายการผลิตอันเนื่องมาจากการขาดแคลนแรงงาน ลดค่าบริการจัดหางาน และยังสามารถลดจำนวนแรงงานที่


หลบหนีนายจ้างลงได้ด้วย นอกจากนี้ เนื่องจากแรงงานต่างชาติไม่สามารถยื่นขอโอนสัญชาติ หรือขอใบถิ่นที่อยู่ถาวรได้ ดังนั้น การขยายระยะเวลาการทำงานของแรงงานต่างชาติจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาการอพยพย้ายถิ่นแต่อย่างใด แถลงการณ์ดังกล่าวยังได้ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ที่ไม่มีการจำกัดระยะเวลาการทำงานของแรงงานต่างชาติด้วย
ในขณะที่ตัวแทนกลุ่มสหพันธ์แรงงานไต้หวันและ สส.พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ได้ร่วมกันจัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2554 คัดค้านการขยายระยะเวลาการทำงานของแรงงานต่างชาติในไต้หวันจากเดิม 9 ปีเป็น 12 ปี โดยกล่าว่า การเรียกร้องให้มีการขยายระยะเวลาการจ้างงานผู้อนุบาลชาวต่างชาติออกไป เพื่อดูแลผู้ทุพพลภาพนั้น ในความเป็นจริงสามารถใช้ระบบการดูแลผู้ป่วย หรือผู้ทุพพลภาพของรัฐบาลท้องถิ่นได้ นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องมีการทบทวนนโยบายนำเข้าแรงงานต่างชาติใหม่ทั้งหมดว่ามีการใช้อย่างเหมาะสมหรือไม่ และควรมีการทบทวนว่าแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไต้หวันนั้นได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบครอบครัวของแรงงานท้องถิ่นที่ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาล ว่าพวกเขาไม่มีกำลังเพียงพอที่จะว่าจ้างผู้อนุบาลชาวต่างชาติ ทำไมรัฐบาลไม่จัดตั้งระบบใหม่ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพวกเขา ท้ายสุดยังได้กล่าวว่า ไต้หวันมีคนชราที่เป็นผู้ทุพพลภาพเพียง 150,000 คน แต่ทำไมจำนวนผู้อนุบาลชาวต่างชาติจึงมีมากว่าตัวเลขนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องหาทางแก้ไขโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม การประชุมสภานิติบัญญัติ เพื่อหารือระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2554 ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ดังนั้น ประเด็นการขยายเวลาทำงานของแรงงานต่างชาติในไต้หวันจึงต้องมีการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมสภานิติบัญญัติครั้งต่อไป ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2554